การแปลบาลีที่อธิบายเรื่องบัญญัติ ของ บัญญัติ (ศาสนาพุทธ)

การแปลเรื่องบัญญัติมักมีการแปลที่ผิดหลักความเป็นจริงอยู่บ่อยๆ คือ แปลให้บัญญัติกลายเป็นปรมัตถ์ เช่น แปลว่า "บัญญัติอาศัยปรมัตถ์เกิดขึ้น" เป็นต้น ซึ่งเป็นการแปลที่ขัดกับข้อเท็จจริงตามหลักปัฏฐานที่ว่า บัญญัติเป็นได้แค่อารัมมณปัจจัยเท่านั้น บัญญัติไม่สามารถเป็นปัจจยุปบันได้เลย แต่เมื่อแปลให้เกิดความเข้าใจไปว่า บัญญัติสามารถอาศัยปรมัตถ์ได้ ก็จะทำให้บัญญัติกลายเป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง (สังขตธรรม) ขึ้นมาทันที ทั้งๆ ความจริงแล้วบัญญัติเป็นปัจจยุปบันไม่ได้ตามหลักปัฏฐาน.

การแปลที่ถูกต้องตรงตามหลักปัฏฐาน จึงควรโยคสภาวะธรรมที่เกี่ยวข้องกันมาใส่ด้วยให้ครบถ้วนตามหลักบาลี เช่น จากที่แปลว่า "บัญญัติอาศัยปรมัตถ์เกิดขึ้น" ก็ควรโยคจิตเข้ามาเป็น "จิตอาศัยปรมัตถ์ รู้บัญญัติ" โดยในคำแปลที่แก้แล้วนั้นมีอธิบายแยกลงไปว่า คำว่า "จิต" นั้น โยคเพิ่มเข้ามาได้เพราะ คำว่า "อาศัยปรมัตถ์" นั้น ต้องการปัจจยุปบันของปรมัตถ์ เมื่อบัญญัติเป็นปัจจยุปบันของปรมัตถ์ไม่ได้ ก็ต้องหาต้นตอของบัญญัติที่เป็นปัจจยุปบันได้แล้วโยคเข้ามาให้ครบตามหลักบาลี, ส่วนคำว่า "รู้" นั้น ก็โยคมาจากความหมายของบัญญัติที่ว่า "ปัญญาปิยตา (อัตถบัญญัติ)" กับ "ปัญญาปนโต (นามบัญญัติ)". คำโยคเหล่านี้ ถ้าคิดไม่ออก ในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฏีกาต่างๆ ก็มักจะแสดงไว้ให้อยู่แล้ว แต่ต้องรอบคอบ ดูเรื่องปัจจัยปัจจยุปบัน และกฎไวยากรณ์ต่างๆ ให้ดี เพื่อไม่ให้โยคผิดพลาด.